แม้เหล่าผู้ปกครองต่างรู้กันดีว่าการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการเล่นกีฬานั้นล้วนส่งผลต่อมวลกระดูกและการเจริญเติบโตของเด็กๆ โดยเฉพาะการเล่นกีฬานั้นส่งผลกระตุ้นให้กระดูกของเด็กๆ มีการขยายตัว และมีความแข็งแรงขึ้นไปตามวัย แต่การเล่นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวมากๆ ที่ทำให้เกิดการยืดของกล้ามเนื้อ และกระดูก ในส่วนต่างๆ รวมทั้งมีการลงน้ำหนักที่ข้อต่อ อาทิ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อกระดูกของเด็กๆ และอาการบาดเจ็บในระยะยาวได้
ประกอบกับที่ในในปัจจุบัน เด็กๆ หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการเล่นกีฬามากขึ้น ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บในวัยนี้มากขึ้นตามไปด้วย ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บในเด็กก็มีดังต่อไปนี้
- เด็กเล็กๆ นั้นตัวกระดูกยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
- การเล่นกีฬาต้องมีการฝึกซ้อม ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บในจุดเดิมซ้ำๆ ได้
- ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานในการฝึกมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมา
อาการบาดเจ็บที่เริ่มต้นจากกระดูกส่วนของหัวไหล่
โดยเฉพาะในกระดูกส่วนของหัวไหล่ (Little League Shoulder) ซึ่งจะพบว่ามีการบาดเจ็บที่ทำการวินิจฉัยได้ยาก จะเป็นการบาดเจ็บที่มองไม่เห็นรอยแตกหักเลย กีฬาส่วนใหญ่ที่เด็กๆ มักพบอาการบาดเจ็บในส่วนนี้ เป็นกีฬาประเภท Overhead sport นั่นเอง โดยอาการบาดเจ็บประเภทนี้มักพบในกลุ่มของเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กอายุ 11-16 ปี
Overhead sport คือกีฬาประเภทไหนบ้าง
กีฬาที่เราต้องยกแขนขึ้นบริเวณเหนือศรีษะ เช่น ว่ายน้ำ บาสเกตบอล ยิมนาสติก มวยปล้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขว้าง ที่จะต้องยกมือขึ้นเหนือศรีษะ หรือการทุ่ม ที่ต้องยกหัวไหล่ขึ้นสูง อาการที่พบบ่อย คือเด็กจะมีอาการเจ็บบริเวณรอบๆ ของหัวไหล่ประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งพักแล้วไม่ดีขึ้น เวลาที่เขาเล่นกีฬาที่มีการขว้างในลักษณะดังกล่าวก็จะเจ็บมากขึ้น เมื่อมาหาแพทย์เพื่อทำการตรวจก็พบว่าเด็กๆ จะมีอาการบาดเจ็บที่บริเวณของส่วนหน้า และส่วนบนของกระดูกต้นแขน (Humerus) แล้วก็มีอาการอ่อนแรงของหัวไหล่เวลากางแขนตามมาด้วยซึ่งอาการอักเสบบริเวณนี้ การรักษาคือพัก อย่างน้อย 3 เดือน หลังจากนั้นเมื่อหายสนิทแล้ว ก็สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้
อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการอักเสบของข้อศอก
อีกโรคกระดูกจากการเล่นกีฬาที่มักพบในเด็ก คือการอักเสบของข้อศอก พบได้เมื่อเกิดการเจ็บเมื่อคลำไปที่บริเวณข้อศอกด้านในจะเจ็บมากขึ้น ปวดและเจ็บมากขึ้นเวลาออกแรงดันข้อศอกเข้าชิดลำตัว การรักษาไม่ต้องผ่าตัดโดยสามารถประคบร้อน ประคบเย็นได้ อีกโรคกระดูกที่พบในกลุ่มเด็กที่ชอบเล่นกีฬาอีกโรคจะเป็น Osgood-Schlatter Disease (OSD) อาการของปุ่มกระดูกหน้าแข้งอักเสบ มักพบในเด็กวัยรุ่นเพศชายมากกว่าเด็กผู้หญิง อายุเด็กผู้ชายอยู่ที่ 12-15 ปี เด็กผู้หญิง 8-12 ปี ส่วนใหญ่เป็นสองข้างอยู่ที่ 20 – 30% สาเหตุเกิดจากการกระโดดในกีฬาประเภท บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เมื่อมีอาการบาดเจ็บ พักแล้วจะมีอาการดีขึ้นได้
ฝากถึงผู้ปกครองเมื่อเด็ก เริ่มมีความสนใจในการเล่นกีฬา
ตามพัฒนาการของเด็กๆ แล้ว ช่วงวัยต่างๆ สามารถเล่นกีฬาได้หมด ทางผู้ปกครองต้องคอยสังเกตว่าบุตรหลานสนใจกีฬาแบบไหนก็คอยสนับสนุน ยกตัวอย่างถ้าอยากให้ลูกมีส่วนสูงเพิ่มขึ้น หมอก็แนะนำให้เล่นกีฬาประเภทกระโดด ไม่ว่าจะเป็นกระโดดเชือก กระโดดยางก็แล้วแต่ พวกนี้จะทำให้กระดูกของเด็กๆ เจริญเติบโตเร็วขึ้น ช่วยทำให้ลูกสูงขึ้น หรือการว่ายน้ำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ แต่สิ่งที่ไม่แนะนำให้เด็กที่จะหมดวัยเจริญเติบโตเล่นเลยก็คือ เรื่องของกีฬาประเภท Weight Training เพราะถ้ามีการบาดเจ็บของข้อต่างๆ ในร่างกาย มักจะส่งผลให้เยื่อการเจริญเติบโตนั้นๆ ตายไปด้วย แล้วอาจส่งผลให้กระดูกชิ้นนั้นมีขนาดสั้นลงได้ รวมๆ แล้วกีฬาส่วนใหญ่เล่นได้หมด ยกเว้นกีฬาประเภท Weight Training อันนี้ไม่แนะนำ
เป็นปกติที่เด็กๆ ส่วนใหญ่ เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาก็ยังอยากเล่นต่ออยู่
ต้องฝากให้ผู้ปกครองคอยดูแลบุตรหลานในเรื่องนี้ เนื่องจากว่าถ้าเกิดการบาดเจ็บแล้วไม่หยุดพัก อาจจะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บเรื้อรังตามมา ควรอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจว่าถ้าเกิดยังไปเล่นกีฬาซ้ำๆ ในจุดที่เกิดการบาดเจ็บจากที่ต้องทำการรักษาน้อย ต้องไปรักษามาก จากที่ไม่ต้องผ่าตัดก็ต้องผ่า กลายเป็นต้องใช้เวลารักษานานกว่าเดิม
ข้อแนะนำสำหรับเด็กก่อนจะเล่นกีฬา
ทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรต้องยืดเหยียดแขน ขาอย่างน้อย 5 นาทีก่อนเริ่มเล่น กีฬา และหลังจากเล่นกีฬาแล้ว ก็ต้องยืดเหยียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้